Pankhurst, Emmeline (1858-1928)

นางเอมเมอลีนแพงก์เอีสต (พ.ศ. ๒๔๐๑-๒๔๗๑)

 เอมเมอลีนแพงค์เฮิสต์เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีชาวอังกฤษและผู้นำขบวนการเรียกร้องให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทัดเทียมบุรุษ เป็นผู้สนใจเรื่องราวในสังคมและการเมืองตั้งแต่รุ่นสาวจึงสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มเคลื่อนไหวต่าง ๆ และในที่สุดเป็นผู้ก่อตั้งสหภาพการเมืองและสังคมแห่งสตรี (Women’s Social and Political Union-WSPU) ขึ้นในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ หลังจากที่เล็งเห็นแล้วว่าไม่มีพรรคการเมืองใดรับนโยบายเกี่ยวกับสิทธิเลือกตั้งของสตรี เพราะสถานะของสตรีในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ แม้จะพัฒนาขึ้นในด้านโอกาสทางการศึกษา อาชีพ สิทธิตามกฎหมายของพลเมืองและการเมืองท้องถิ่นแต่ยังไม่เปลี่ยนแปลงสำหรับการเมืองระดับชาติ กลุ่มการเมืองของเธอสร้างจุดเด่นในการเคลื่อนไหวเรียกร้องด้วยการใช้ยุทธวิธีก้าวร้าวข่มขู่ และคุกคามเพื่อกระตุ้นให้สังคมทันมาสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจังผู้ร่วมขบวนการของเธอได้รับการขนานนามว่า ซัฟเฟรเจตต์ (suffragette)

 เอมเมอลีนแพงก์เฮิสต์เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๔๘ ในเขตมอสไซด์ (Moss Side) เมืองแมนเชสเตอร์ (Manchester) เธอเป็นบุตรคนโตในจำนวนบุตรชายหญิง ๑๐ คนของรอเบิร์ต กูลเดน(Robert Goulden) นักธุรกิจผลิตผ้าฝ้ายที่ประสบความสำเร็จและเป็นผู้มีความคิดเห็นทางการเมืองที่รุนแรง เขาเคยร่วมในการรณรงค์ต่อต้านการมีทาสและกฎหมายข้าว (Corn Law)* ของอังกฤษมารดาชื่อโซเฟีย เครน(Sophia Crane) นักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีที่มักพาเอมเมอลีนไปประชุมด้วยตั้งแต่อายุ ๑๔ ปี จนทำให้บุตรสาวค่อย ๆ ซึมซับความรับรู้ที่ว่าบิดาและมารดาสนใจเรื่องการปฏิรูปสังคมและการเมืองอย่างจริงจัง อย่างไรก็ดีทั้งบิดามารดายังคงมีแนวคิดแบบจารีตเกี่ยวกับการศึกษาของเด็กหญิงที่ไม่เน้นวิชาการหรือสาระหนัก ๆ หลังผ่านการเรียนชั้นต้นที่แมนเชสเตอร์ เอมเมอลีนซึ่งมีรูปโฉมงดงามจึงถูกส่งไปเข้าเรียนในโรงเรียนสำหรับกุลสตรีที่กรุงปารีสระหว่าง ค.ศ. ๑๘๗๓-๑๘๗๗ และเมื่อกลับมาบ้านเกิด ใน ค.ศ. ๑๘๗๘ เธอได้พบกับดอกเตอร์ริชาร์ด มาร์สเดนแพงก์เฮิสต์ (Richard Marsden Pankhurst) ทนายความผู้มีแนวคิดสังคมนิยมและสนับสนุนการให้สิทธิแก่สตรีรวมทั้งการปฏิรูปต่าง ๆ อาทิ การจัดการศึกษาฟรีชองรัฐ การโอนที่ดินเป็นของรัฐ การให้สิทธิปกครองตนเองแก่ไอร์แลนด์ การให้เอกราชแก่อินเดีย การยกเลิกนิกายอังกฤษจากการเป็นนิกายทางการ และการยกเลิกสภาขุนนาง (House of Lords) ริชาร์ดเป็นเพื่อนของจอห์นสจวร์ต มิลล์ (John Stuart Mill) นักปรัชญาการเมืองและนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ แม้อายุจะห่างกันกว่า ๒๐ ปี ริชาร์ดและเอมเมอลีนก็ได้เข้าพิธีสมรสและมีบุตรด้วยกัน๕ คนได้แก่ คริสตาเบล (Christabel) ซิลเวีย (Sylvia) แฟรงค์ (Frank) แอดิลา (Adela) และแฮร์รี (Harry)

 การร่วมอยู่ในคณะกรรมาธิการว่าด้วยทรัพย์สินของสตรีที่สมรสแล้ว(Married Women’s Property Committee) ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๖๘-๑๘๗๐ ทำให้ริชาร์ด แพงค์เฮิสต์ เป็นผู้จัดทำร่างพระราชบัญญัติที่ให้สิทธิสตรี ออกเสียงเลือกตั้งเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นค.ศ. ๑๘๖๙ (Municipal Franchise Act of 1869) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สตรีโสดเจ้าของบ้านมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง และร่างกฎหมายว่าด้วยทรัพย์สินของสตรีที่สมรสฉบับ ค.ศ. ๑๘๗๐ และ ค.ศ. ๑๘๘๒ ที่ทำให้สตรีสามารถครอบครองทรัพย์สินที่ได้มาทั้งก่อนและหลังสมรสได้ เอมเมอลีนสนับสนุนกิจกรรมทางการเมืองของสามีอย่างแข็งขันและร่วมกันต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี ใน ค.ศ. ๑๘๘๖ ทั้งคู่ได้ย้ายไปอยู่ย่านรัสเซลล์สแควร์ (Russell Square) กรุงลอนดอนซึ่งต่อมาบ้านของบุคคลทั้งสองได้กลายเป็นที่ชุมนุมพบปะของกลุ่มที่มีแนวคิดปฏิรูปสังคมหัวรุนแรง เช่นวิลเลียม มอร์ริส(William Morris) ทอม มานน์ (Tom Mann) แอนนี เบซันต์ (Annie Besant) ใน ค.ศ. ๑๘๘๙ ทั้งสองช่วยจัดตั้งสันนิบาตเพื่อสิทธิออกเสียงเลือกตั้งของสตรี (Women’s Franchise League) ด้วยริชาร์ด แพงค์เฮิสต์ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อเป็นสมาชิกสภาสามัญ (House of Commons) หลายครั้งแต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะคนทั่วไปยังไม่อาจรับความคิดก้าวหน้าต่าง ๆ ของเขาซึ่งรวมทั้งการให้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งแก่ทุกคนและให้สมาชิกสภาสามัญได้รับเงินเดือนทั้งคู่ย้ายกลับไปอยู่ที่แมนเชสเตอร์อีกครั้งใน ค.ศ. ๑๘๙๓ เอมเมอลีนและสามีซึ่งเคยสนับสนุนพรรคเสรีนิยม (Liberal Party)* ได้สมัครเป็นสมาชิกของพรรคแรงงานอิสระ (Independent Labour Party) ซึ่งเพิ่งจัดตั้งขึ้นไม่นานและได้จัดตั้งสาขาพรรคแรงงานอิสระที่นั่นด้วย ใน ค.ศ. ๑๘๙๕ เอมเมอลีนได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลคนยากจนตามกฎหมายสงเคราะห์ผู้ยากไร้ (Poor Law Guardian) ซึ่งทำให้เธอได้ไปตรวจเยี่ยมสถานพักพิงท้องถิ่นสำหรับคนยากจนที่เข้ามาขอความช่วยเหลือจากรัฐ และต้องตกใจกับสภาพความเป็นอยู่ที่น่าเวทนาและภาวะที่ต้องอดทนต่อความทุกข์ยากของสตรีที่ต้องพักอาศัยในที่คับแคบ เอมเมอลีนจึงเชื่อว่าหนทางเดียวที่จะแก้ปัญหาความเดือดร้อนที่สตรีต้องเผชิญอยู่หรือปรับปรุงคุณภาพชีวิตของสตรีได้ก็คือการให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง เธอจึงมุ่งนั่นที่จะรณรงค์ในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น

 การดำเนินงานของสันนิบาตเพื่อสิทธิออกเสียงเลือกตั้งของสตรีต้องหยุดชะงักลงเมื่อสามีเธอล้มเจ็บและเสียชีวิตด้วยโรคกระเพาะใน ค.ศ. ๑๘๙๘ ขณะอายุ ๖๔ ปี แม้เอมเมอลีนจะตกใจและเศร้าโศกมากกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและเริ่มประสบปัญหาด้านการเงินจนต้องย้ายสถานที่พำนักเพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่เธอก็ยังคงดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต่อไปและเข้าเป็นสมาชิกสมาคมเฟเบียน (Fabian Society)* ที่ยึดถือแนวทางปฏิรูปสังคมแบบค่อยเป็นค่อยไปที่เรียกว่าลัทธิเฟเบียน (Fabianism) อย่างไรก็ดี ภาระที่ต้องเลี้ยงดูบุตร ๔ คนที่เหลือ ทำให้เธอต้องหางานทำอย่างจริงจัง เอมเมอลีนได้งานเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนรับแจ้งเกิดและตายในเขต ชอร์ลตัน(Chorlton) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงานซึ่งเธอทำงานนี่จนกระทั่ง ค.ศ. ๑๙๐๗ การได้พบเห็นสตรียากจนมาติดต่อลงทะเบียนแจ้งเกิดให้แก่บุตรตามลำพังครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้เธอสะเทือนใจและเห็นว่าต้องให้สตรีมีสิทธิออกเสียง ยิ่งเมื่อเธอทราบข่าวว่าจะมีการทำพิธีเปิดอาคารที่มีป้ายชื่อสามีติดเป็นเกียรติเพื่อเป็นที่ทำการสาขาของพรรคแรงงานอิสระ แต่ห้ามสตรีเข้าเธอจึงตัดสินใจว่าจำเป็นต้องจัดตั้งองค์กรสตรีขึ้นใหม่ ต่อมา เมื่อตระหนักแล้วว่าทั้งพรรคเสรีนิยม พรรคแรงงานอิสระ และสมาคมเฟเบียนต่างไม่ได้มุ่งมั่นที่จะทำให้สตรีได้รับสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทัดเทียมบุรุษซึ่งได้สิทธิค่อนข้างสมบูรณ์แล้วตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๘๔ เอมเมอลีนจึงร่วมมือกับคริสตาเบลและซิลเวียบุตรสาว๒ คนก่อตั้งสหภาพการเมืองและสังคมแห่งสตรีขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๓ ที่เมืองแมนเชสเตอร์ ในระยะแรกนั้นเธอต้องการให้เป็นองค์กรที่ระดมพลังของสตรีชั้นแรงงานมาช่วยกันต่อสู้เพื่อให้สตรีได้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง และไม่ผูกพันกับพรรคการเมืองใด ซึ่งช่วงที่รุ่งโรจน์ที่สุดมีถึง ๘๘ สาขา ส่วนใหญ่อยู่ในเขตกรุงลอนดอนและทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ

 สองปีต่อมา เมื่อเห็นว่านักการเมืองและสื่อมวลชนคลายความสนใจกับการต่อสู้ของสหภาพโดยไม่ค่อยเสนอข่าวเกี่ยวกับการชุมนุมและยังมักปฏิเสธการตีพิมพ์บทความและจดหมายที่ผู้สนับสนุนเรื่องนี้เขียนส่งมา สหภาพการเมืองและสังคมแห่งสตรีจึงตัดสินใจใช้ยุทธวิธีใหม่แทนการยื่นข้อเรียกร้องหรือการแจกแผ่นพับแบบเดิม มีการเดินขบวนในที่ชุมนุมสาธารณะต่าง ๆ การส่งผู้แทนไปที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรี ณ เลขที่ ๑๐ ถนนดาวนิง (Downing) และการพยายามขัดจังหวะการประชุมของสภาสามัญ และที่เป็นข่าวโด่งดังเกิดขึ้นในวันที่ ๑๓ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๕ เมื่อคริสตาเบล แพงก์เฮิสต์และแอนนี เคนนีย์ (Annie Kenney) ซัฟเฟรเจตต์ ของสหภาพฯ ได้ไปในที่ประชุมพรรคเสรีนิยมที่นครแมนเขสเตอร์เพื่อฟัง เซอร์เอดเวิร์ด เกรย์ (Edward Grey)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศปราศรัย ทั้งคู่ช่วยกันตะโกนถามซํ้าชากว่าพรรคเสรีนิยมจะบรรจุถ้อยคำที่เกี่ยวกับการให้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งแก่สตรีหรือไม่ซึ่งขัดจังหวะการพูดของเกรย์ครั้งแล้วครั้งเล่า จนในที่สุดกรรมการพรรคเหลืออดและให้ตำรวจนำคนทั้งสองออกจากบริเวณ ทั้งคู่ขัดขืนจนถูกจับข้อหาทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวว่าสตรี ๒ คนนี่ เตะและถ่มนํ้าลายใส่ตนเมื่อปฏิเสธที่จะจ่ายค่าปรับจำนวน๕ ชิลลิง จึงถูกสั่งจำคุก คริสตาเบลคลี่ผืนธงที่มีข้อความเขียนว่า “ออกเสียงให้สตรีมีสิทธิ” (Votes for Women) ขณะเดินเข้าคุก สาธารณชนทั่วไปเมื่อทราบข่าวนี่ พากันตกใจ เพราะ เป็นครั้งแรกที่มีข่าวว่าสตรีใช้ความรุนแรงในการต่อสู้เรียกร้อง

 ไม่นานต่อมา เอมเมอลีนแพงก์เฮิสต์ได้ย้ายถิ่นที่อยู่ จากนครแมนเชสเตอร์ไปอยู่กรุงลอนดอนอีกครั้ง เพื่อร่วมรณรงค์กับบุตรสาว๒ คนในการดำเนินกิจกรรมของสหภาพฯ และลาออกจากงานการเป็นนายทะเบียนใน ค.ศ. ๑๙๐๗ ช่วงเวลา ๕ ปีนับแต่นั้นเธอไม่มีที่พักเป็นหลักแหล่งถาวรเพราะต้องเดินทางจากที่ชุมนุมหนึ่งไปอีกที่หนึ่งเพื่อกล่าวปราศรัย เอมเมอลีนมีวาทศิลป์และบุคลิกที่สามารถดึงดูดผู้ฟัง นอกจากนี้ เธอยังตระหนักว่ารัฐบาลพรรคเสรีนิยมที่เธอเคยนิยมเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการดำเนินงานของสหภาพฯ มากขึ้นทุกที เธอจึงรณรงค์ต่อต้านผู้สมัครที่สังกัดพรรคนี่ในการเลือกตั้งต่าง ๆ ทำให้พรรคเสรีนิยมตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก เพราะหากให้สิทธิเลือกตั้งแก่สตรีที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินในขั้นต้นสตรีเหล่านี้ก็มีแนวโน้มว่าจะเลือกพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party)* มากกว่า เหล่าซัฟเฟรเจตต์ ใช้มาตรการก่อกวนความสงบในสังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ มีความพยายามขัดขวางการประชุมของคณะรัฐมนตรี การล่ามโซ่ตนเองกับราวเหล็กในห้องโถงของสภาสามัญ สังคมจึงได้ประจักษ์ชัดถึงความแตกต่างระหว่างกลุ่มซัฟเฟรเจตต์กับกลุ่มซัฟเฟรจิสต์ (suffragist) ของสหภาพสังคมแห่งชาติเพื่อสิทธิเลือกตั้งของสตรี (National Union of Women’s Suffrage Societies) ที่มีมิลลิเซนต์ การ์เรตต์ ฟอว์เซตต์ (Millicent Garrett Fawcett)* เป็นผู้นำและดำเนินงานมาก่อนในกรอบของกฎหมาย กลุ่มหลังนี่แม้จะมีสมาชิกจำนวนมากกว่า แต่กลุ่มซัฟเฟรเจตต์ของแม่และลูกสาวตระกูลแพงก์เฮิสต์สามารถสร้างข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์ได้มากกว่า

 ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๘-๑๙๐๙ เอมเมอลีนแพงก์เฮิสต์ ถูกจำคุกทั้งหมด ๓ ครั้ง ใน ค.ศ. ๑๙๑๐ เธอมีท่าทีประนีประนอมกับรัฐบาลมากขึ้นแต่ต่อมาก็หันกลับไปโจมตีรัฐบาลอีกเมื่อรัฐบาลสกัดกั้นร่างกฎหมายฉบับหนึ่งที่เกี่ยวกับการให้สตรีมีสิทธิออกเสียง ใน ค.ศ. ๑๙๑๒ สหภาพการเมืองและสังคมแห่งสตรีได้หันไปใช้วิธีการเชิงรุกอย่างรุนแรงโดยเฉพาะการใช้วิธีลอบวางเพลิงสถานที่หลายแห่ง โดยคริสตาเบลเป็นผู้สั่งการจากกรุงปารีสซึ่งเป็นที่ที่เธอหลบหนีการจับกุม ทั้งราดน้ำกรดและวางเพลิงตู้จดหมายและอาคารสถานที่ ได้แก่ โบสถ์ โรงเรียนรถไฟ และโดยเฉพาะบ้านชานเมืองที่ไม่มีผู้อยู่อาศัย ทุบกระจกในย่านร้านค้าวางระเบิดบริเวณมหาวิหารเซนต์พอล (St. Paul Cathedral) ทุบทำลายทรัพย์สินศิลปวัตถุ เช่นกรีดรูปภาพในหอศิลปะแห่งชาติ (National Gallery) บริติชมิวเซียม (British Museum) และขว้างปากระจกหน้าต่างทำเนียบนายกรัฐมนตรีที่ถนนดาวนิง ลอบตัดสายโทรศัพท์และโทรเลข

 ใน ค.ศ. ๑๙๑๓ เอมิลี วิลดิง เดวิสัน(Emily Wilding Davison) ซัฟเฟรเจตต์คนหนึ่งแสดงการต่อต้านด้วยการพุ่งตัวเข้าขวางม้าแข่งจากคอกของพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๗ (Edward VII)* ที่กำลังวิ่งเข้าโค้งในวันงานแข่งม้าดาร์บี (Derby Day) จนบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตต่อมา ซัฟเฟรเจตต์ ราว๖,๐๐๐ คนได้ไปร่วมในพิธีแห่ศพซึ่งเคลื่อนย้ายจากสถานีรถไฟวิกตอเรียไปสถานีคิงส์ครอส(King’s Cross) นอกจากนี้ เมื่อใดที่มีการจับกุม เหล่าซัฟเฟรเจตต์ก็จะใฃ้วิธีอดข้าวอดนํ้าประท้วง การเรียกร้องด้วยวิธีก้าวร้าวรุนแรงของซัฟเฟรเจตต์เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้มีผู้ต่อต้านเพิ่มขึ้นทั้งผู้ที่เคยสนับสนุนก็เหินห่าง เอเวอลีน แบริง เอิร์ลแห่ง โครเมอร์ที่ ๑ (Evelyn Baring, 1ˢᵗ Earl of Cromer)* ฮัมฟรีย์ วอร์ด (Humphry Ward) และไวโอเล็ต มาร์คัม (Violet Markham) นักแต่งนวนิยายได้ร่วมมือกันจัดตั้งสันนิบาตต่อต้านการให้สิทธิเลือกตั้งแก่สตรี (National League for Opposing Woman Suffrage) เพราะเห็นว่าประเทศชาติมีเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญกว่าเรื่องสิทธิเลือกตั้งของสตรี เอมเมอลีนเองก็ถูกจับกุมคุมขังใน ค.ศ. ๑๙๑๓ ซึ่งเธอก็ใช้วิธีอดนั้าอดอาหาร และอดนอนในการบีบบังคับให้รัฐปล่อยตัวเธอต่างกับซัฟเฟรเจตต์คนอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกบังคับให้กินอาหารเพราะเจ้าหน้าที่คุกไม่ต้องการช่วยเธอสร้างภาพวีรสตรีขึ้นการที่รัฐบาลได้ออกกฎหมายว่าด้วยการปล่อยตัวนักโทษชั่วคราวอันเนื่องมาจากปัญหาสุขภาพ (Prisoners Act of 1913; Temporary Discharge for Ill-Health Act) หรือที่เรียกกันว่า กฎหมายแมวกับหนู (Cat and Mouse Act) ทำให้เธอได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นระยะ ๆ และถูกจองจำใหม่เมื่อสุขภาพฟื้นตัวเอมเมอลีนถูกจำขังและปล่อยตัวในลักษณะนี่ถึง ๑๒ ครั้ง ใน๑ ปี จนนับเวลาที่เธออยู่ในเรือนจำจริงเพียง ๓๐ วันครั้งสุดท้ายที่เธอถูกจับใน ค.ศ. ๑๙๑๓ นั้นมาจากการยินยอมเป็นผู้รับผิดการพยายามวางระเบิดบ้านของเดวิด ลอยด์ จอร์จ (David Lloyd George)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และถูกตัดสินให้จำคุก ๓ ปี แต่ภายหลัง ๑ ปีก็ได้รับการปล่อยตัว

 เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* และอังกฤษประกาศสงครามต่อเยอรมนีในวันที่ ๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ เอมเมอลีนและคริสตาเบลตัดสินใจเลื่อนการรณรงค์ของสหภาพออกไปก่อนและประกาศสนับสนุนประเทศยามสงคราม ซึ่งทำให้ผู้คนชื่นชมการกระทำครั้งนี้ของซัฟเฟรเจตต์ เธอให้เหตุผลว่าเป็นการเปล่าประโยชน์ที่จะรณรงค์เพื่อให้มีสิทธิออกเสียงในเมื่อไม่มีประเทศดำรงอยู่ รัฐบาลจึงปล่อยนักโทษทั้งหมดที่เป็นนักรณรงค์เพื่อสิทธิของสตรี อีกทั้งลอยด์ จอร์จซึ่งเปลี่ยนมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้มอบเงินทุน๒,๐๐๐ ปอนด์ ให้แก่สหภาพการเมืองและสังคมแห่งสตรีในการดำเนินกิจกรรมช่วยประเทศยามสงคราม สหภาพ ฯ ได้จัดการเดินขบวนในกรุงลอนดอนโดยสมาชิกจำนวน๓๐,๐๐๐ คนของสหภาพฯ แห่ป้ายประกาศคำขวัญ เช่น“เราเรียกร้องสิทธิที่จะรับใช้ [ประเทศชาติ]” (We Demand the Right to Serve) “ผู้ชายต้องสู้ ผู้หญิงต้องทำงาน” (For Men Must Fight and Women Must Work) และ “อย่าตกเป็นเครื่องมือของไกเซอร์” (Let None Be Kaiser’s Cat’s Paws) ในที่ประชุมใหญ่ของซัฟเฟรเจตต์ที่มีจำนวนถึง ๓๐,๐๐๐ คนเอมเมอลีนแพงก์เฮิสต์ เรียกร้องให้บรรดาสหภาพแรงงานรับสตรีเข้าทำงานในภาคอุตสาหกรรมที่เคยมีแต่ผู้ชายเป็นหลักเหล่าซัฟเฟรเจตต์ได้ยื่นขนนกสีขาวให้แก่ชายหนุ่มทุกคนที่ยังสวมชุดพลเรือนเพื่อโน้มน้าวให้ไปรบเพื่อประเทศ และมักจะไปร่วมในที่ชุมนุม ณ สวนสาธารณะไฮด์พาร์ก (Hyde Park) พร้อมป้ายประกาศที่เขียนว่า “เอาพวกเขาไปฝึก” (Intern Them All) ในเวลาต่อมาสหภาพการเมืองและสังคมแห่งสตรีเปลี่ยนชื่อหนังสือพิมพ์ของตนจาก The Suffragette เป็นBritannia และแพงก์เฮิสต์ก็ตั้งคำขวัญให้กับหัวหนังสือพิมพ์ใหม่ว่า “เพื่อกษัตริย์ เพื่อประเทศ เพื่ออิสรภาพ” (For King, For Country, For Freedom) หนังสือพิมพ์หัวใหม่นี่ลงข่าวโจมตีนักการเมืองที่ต่อต้านการทำสงคราม เช่นแรมเซย์ แมกดอนัลด์ (Ramsay MacDonald)* ถูกประณามว่าเป็นเยอรมันยิ่งกว่าคนเยอรมันหรืออาร์เทอร์ เฮนเดอร์สัน (Arthur Henderson)* เลขาธิการพรรคแรงงาน (Labour Party)* ซึ่งประสงค์จะเจรจาสันติภาพกับเยอรมนีก็ถูกกล่าวหาว่ารับเงินจากฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central Powers)*

 เอมเมอลีนซึ่งเคยเดินทางไปสหรัฐอเมริกามาแล้ว๓ ครั้งเพื่อบรรยายเกี่ยวกับการให้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งแก่สตรีได้เดินทางในช่วงระหว่างสงครามไปสหรัฐอเมริกาอีกรวมทั้งไปแคนาดาและรัสเซียเพื่อเรียกร้องให้สตรีได้เข้าทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม และได้กล่าวยํ้าถึงบทบาทของสตรีในยามสงคราม ใน ค.ศ. ๑๙๑๗ เอมเมอลีนและคริสตาเบลได้จัดตั้งพรรคสตรี (Women’s Party) ขึ้นในจำนวนนโยบาย ๑๒ ข้อของพรรค มี ๓ ข้อสำคัญที่ระบุว่าจะสู้กับเยอรมนีจนถึงที่สุด จะใช้มาตรการยามสงครามที่เข้มข้นได้แก่ การปันส่วนอาหาร การมีครัวรวมเพื่อลดทอนการสูญเปล่า การปิดโรงงานที่ไม่จำเป็นเพื่อระบายคนออก และการปลดเจ้าหน้าที่รัฐในหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีเชื้อสายหรือมีการเกี่ยวข้องกับชาติที่เป็นศัตรู และในการเจรจาสันติภาพจะมีการกำหนดให้สลายจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austria-Hungary)* ของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg)* ด้วย พรรคสตรียังสนับสนุนการให้หญิงและชายได้รับค่าแรงเท่าเทียมกันการมีสิทธิในการสมรสและการหย่าร้างอย่างเท่าเทียม การมีสิทธิเท่าเทียมกันของพ่อแม่ในตัวบุตร การมีสิทธิและโอกาสเท่าเทียมกันในตำแหน่งงานของรัฐ และการมีระบบที่เอื้อประโยชน์ให้แก่สตรีที่เป็นมารดา เอมเมอลีนและคริสตาเบลได้ละทิ้งความคิดแนวสังคมนิยมที่เคยเชื่อมาแต่เดิมและหันไปสนับสนุนนโยบายแนวอนุรักษนิยมอย่างเช่นการยุบเลิกสหภาพแรงงาน

 ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ ก่อนสงครามโลกสิ้นสุดลงรัฐบาลอังกฤษตกลงให้สตรีที่อายุ ๓๐ ปีขึ้นไปและมีทรัพย์สินมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาสามัญเหมือนเช่นบุรุษที่อายุ ๒๑ ปีขึ้นไป เข้าใจกันว่าการเปลี่ยนแปลงโนเรื่องนี้เป็นเพราะบทบาทของสตรีโนยามสงครามที่ผู้คนได้ประจักษ์แล้วหาใช่เป็นเพราะรัฐยอมจำนนต่อขบวนการเรียกร้องของแพงก์เฮิสต์ไม่ ต่อมาในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันสตรีที่อายุ ๒๑ ปีขึ้นไปก็สามารถได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาสามัญได้อย่างไรก็ตาม เอมเมอลีนยังคงพำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาต่อไปอีกหลายปีเพื่อบรรยายให้กับสภาแห่งชาติเพื่อรณรงค์ต่อต้านกามโรค (National Council for Combating Venereal Disease) และการรักษาสุขอนามัยต่าง ๆ งานต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีเท่ากับจบลงโดยปริยายและเธอก็มีแนวโน้มไปทางกลุ่มขวา (The Right) มากขึ้นเมื่อเธอกลับมาอังกฤษอีกครั้งหนึ่งใน ค.ศ. ๑๙๒๕ ก็เป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่อง เธอสมัครเป็นสมาชิกพรรคอนุรักษนิยมและได้รับเลือกให้เป็นผู้สมัครของพรรคเขตไวต์แชเพล (White Chapel) และเซนต์จอร์จ (St. George) ในย่านอีสต์เอนด์ (East End) ของกรุงลอนดอนซึ่งเป็นย่านที่ผู้ใช้แรงงานอาศัยอยู่ ซิลเรียบุตรสาวคนรองซึ่งยังคงยึดทัศนะสังคมนิยมตกใจกับการตัดสินใจของมารดาที่หันมาสนับสนุนพรรคอนุรักษนิยมเอมเมอลีนเองก็ไม่พอใจที่ซิลเวียมีบุตรนอกสมรสจึงปฏิเสธที่จะพบบุตรสาวและหลานชาย อย่างไรก็ดี สุขภาพของเอมเมอลีนทรุดโทรมลง เธอเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายนค.ศ. ๑๙๒๘ ขณะอายุ ๗๐ ปีก่อนที่การเลือกตั้งจะเริ่มขึ้นหลังจากนั้นมีการออกพระราชบัญญัติิว่าด้วยการเป็นตัวแทนประชาชน(Representation of the People Act of 1928) เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๘ พระราชบัญญัติิฉบับนี้ให้สิทธิเลือกตั้งแต่สตรีที่มีอายุ ๒๑ ปีขึ้นไปเท่าเทียมบุรุษการต่อสู้ของเอมเมอลีนแพงก์เฮิสต์ที่ดำเนินมา ๔๐ ปี ก็ได้ บรรลุผลในปีที่เธอเสียชีวิตนั่นเอง เธอมีผลงานอัตชีวประวัติ เรื่อง My Own story ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ใน ค.ศ. ๑๙๑๔


ต่อมา มีการจัดทำประติมากรรมรูปเหมือนเป็นเกียรตัเห้แก่เธอ ในสวนวิกตอเรียเทาร์เออร์ (Victoria Tower Gardeกร) ซึ่งอยู่ลัดจากรัฐสภาเวสต์มินสเตอร์ (Westminster)

 หลังสงครามโลก คริสตาเบล บุตรสาวคนโต ซึ่งเคยเป็นเลขาธิการและเป็นตัวจักรสำคัญในการวางยุทธวิธีของสหภาพการเมืองและสังคมแห่งสตรีที่ก้าวร้าวรุนแรง ก็ยังคงมีบทบาทในการเมืองอังกฤษต่อไป เธอเรียนจบทางกฎหมายแต่ความเป็นผู้หญิงทำให้สำนักเนติบัณฑิตลิงคอล์น(Lincoln’s Inn) ปฏิเสธเธอ เธอมีคดิในการทำงานว่า “ทำดีกว่าพูด” (Deeds not Words) แต่ในบั้นปลายชีวิตเธอเคร่งศาสนาและหันไปเป็นนักเทศน์นิกายอีแวนเจลิสต์ (Evangelism) ต่อมา เธอได้ย้ายไปอยู่สหรัฐอเมริกา และใน ค.ศ. ๑๙๓๖ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Dame Commander of the Order of the British Empire ซึ่งทำให้เธอมีบรรดาศักดิ์ท่านผู้หญิง (Dame) นำหน้าชื่อ

 ส่วนซิลเวีย บุตรสาวคนรอง มีทักษะทางศิลปะและเคยเป็นผู้ออกแบบแผ่นปิด (poster) ต่าง ๆ ของกลุ่มซัฟเฟรเจตต์ หลังสงคราม เธอยังคงทำงานเพื่อเขตอีสต์เอนด์ของกรุงลอนดอนโดยช่วยสตรีกรรมาชีพที่ตกงานจัดตั้งคลินิกและสถานศึกษาสำหรับลูกหลานคนงานทั้งยังคงเชื่อมั่นในแนวคิดสังคมนิยมอย่างเหนียวแน่นการติดต่อกับนักสังคมนิยมกลุ่มต่าง ๆ ในต่างประเทศทำให้เธอได้ไปเยือนสหภาพโซเวียตซึ่งเธอมีโอกาสได้พบกับวลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* ทั้งยังได้รับเชิญไปอะบิสซิเนีย [Abyssinia หรือเอธิโอเปีย (Ethiopia) ในปัจจุบัน] เมื่อเกิดสงครามอิตาลี-เอธิโอเปีย (Italo-Ethiopia War)* ใน ค.ศ. ๑๙๓๕ เธอได้แสดงทัศนะต่อต้านเบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini)* ผู้นำอิตาลีที่ต้องการยึดครองอะบิสซิเนีย ซิลเวียเป็นนักเขียนที่สร้างสรรค์ งานประพันธ์ของเธอ ได้แก่ The Suffrage Movement (ค.ศ. ๑๙๓๑) Ethiopia, A Cultural History (ค.ศ. ๑๙๓๕) และ The Life of Emmeline Pankhurst (ค.ศ. ๑๙๓๖) ส่วนแอดิลา บุตรสาวคนสุดท้องของเอมเมอลีนได้อพยพไปอยู่ออสเตรเลีย และในชั้นแรกได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งออสเตรเลียก่อนที่จะเปลี่ยนไปเข้าร่วมขบวนการฟาสซิสต์ (Fascism)* ของที่นั่น.



คำตั้ง
Pankhurst, Emmeline
คำเทียบ
นางเอมเมอลีนแพงก์เอีสต
คำสำคัญ
- กฎหมายข้าว
- กฎหมายแมวกับหนู
- กฎหมายสงเคราะห์ผู้ยากไร้
- กลุ่มซัฟเฟรจิสต์
- กูลเดน, รอเบิร์ต
- ซัฟเฟรเจตต์
- นิกายอังกฤษ
- พรรคแรงงาน
- พรรคสตรี
- พรรคเสรีนิยม
- พรรคอนุรักษนิยม
- ฟอว์เซตต์, มิลลิเซนต์ การ์เรตต์
- มหาอำนาจกลาง
- มอร์ริส, วิลเลียม
- มานน์, ทอม
- มุสโสลีนี, เบนีโต
- แมกดอนัลด์, แรมเซย์
- ลอยด์ จอร์จ, เดวิด
- ลัทธิเฟเบียน
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามอิตาลี-เอธิโอเปีย
- สภาขุนนาง
- สภาสามัญ
- สมาคมเฟเบียน
- สหภาพการเมืองและสังคมแห่งสตรี
- สหภาพสังคมแห่งชาติ
- สหภาพสังคมแห่งชาติเพื่อสิทธิเลือกตั้งของสตรี
- สันนิบาตเพื่อสิทธิออกเสียงเลือกตั้งของสตรี
- สิทธิปกครองตนเอง
- ออสเตรีย-ฮังการี
- อะบิสซิเนีย
- เฮนเดอร์สัน, อาร์เทอร์
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1858-1928
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๐๑-๒๔๗๑
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-